ข่าวประชาสัมพันธ์

ประกาศรับข้อเสนอกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการผลักดัน “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ประจำปีงบประมาณ 2563

24 มิถุนายน 2563   ประเภทข่าว : ข่าววิจัย/ทุนวิจัย    : 15809 ครั้ง




ประกาศสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เรื่อง การรับข้อเสนอกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการผลักดัน “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ประจำปีงบประมาณ 2563

--------------------------------------
 
ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 กำหนดให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ  ตลอดจนการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์
 
วช. จึงเห็นควรส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไปสู่การใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่า “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และมีความประสงค์ประกาศรับข้อเสนอกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการผลักดัน  “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
 
1. เพื่อลดปัญหาการจับปลาสวยงามในธรรมชาติ และป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้าจากการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ
 
2. เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปลาสวยงามในธรรมชาติสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
 
แนวทางและขอบเขตการสนับสนุนทุน
 
       วช. จะสนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการผลักดัน “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยโครงการที่ขอรับทุนฯ จะต้องเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในภาครัฐ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงภาคเอกชน ในการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ครอบคลุมพื้นที่ในระดับภูมิภาค ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ได้แก่
 
ภาคกลาง
ภาคเหนือ
ภาคตะวันออก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคใต้
โดยแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม และการจัดการความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่มีความพร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและขยายผลในรูปแบบต่างๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย จนเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ เช่น การสร้างรายได้ การลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณและ/หรือมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
 
        ทั้งนี้ โครงการจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบในเชิงพาณิชย์ที่ส่งผลต่อ
การสร้างมูลค่าเพิ่มของปลาสวยงามพื้นเมืองอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
 
ลักษณะของโครงการที่ขอรับทุนฯ
 
        โครงการที่ขอรับทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยนี้ ต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อลดปัญหาการจับปลาสวยงามในธรรมชาติ และป้องกันปัญหาการกีดกันทางการค้าจากการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ 2. เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปลาสวยงามในธรรมชาติสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดย
 
1. มีการศึกษาสถานภาพปลาสวยงามในธรรมชาติ และคัดเลือกปลาสวยงามในธรรมชาติที่มีศักยภาพมาส่งเสริมในเชิงการค้า เพื่อยกระดับสู่การส่งออก ในพื้นที่ๆ รับผิดชอบ
 
2. มีการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงในระดับ (Lab scale) และการเพาะเลี้ยงสู่เชิงพาณิชย์ (Pilot scale)
 
3.  มีกลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ดำเนินงานที่ชัดเจน
 
4. มีความร่วมมือในลักษณะภาคีเครือข่าย หรือมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายหรือระดับพื้นที่ เช่น กรมประมง หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานบริหารส่วนท้องที่ กลุ่มวิสาหกิจ/สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชน
 
5. มีการจัดการความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมที่เสร็จสมบูรณ์แล้วให้เกิดการนำไปบูรณาการใช้ประโยชน์ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
 
นวัตกรรม/เทคโนโลยีการผลิต (Lab scale) และการผลิตเชิงพาณิชย์ (Pilot scale)
การยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงเกษตร สู่ระดับมาตรฐาน เพื่อสามารถส่งออกสู่ต่างประเทศได้
การเสริมศักยภาพการผลิตทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรสู่ Smart Farmer/ Young Smart Farmer หรือเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพในการขยายผลเทคโนโลยี และ/หรือการพัฒนาฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) สำหรับเป็นจุดเรียนรู้ของเกษตรกรที่สนใจ
6. เพิ่มศักยภาพทางการค้า โดยการสร้าง Brand Story Telling ให้กับปลาสวยงามสายพันธุ์ดังกล่าว ให้เป็นที่ยอมรับทางการตลาด
 
7. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับปลาสวยงามในธรรมชาติสายพันธุ์ดังกล่าว
 
8. มีความร่วมมือกับ”กรมประมง” ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการการรับรองปลาสวยงามในธรรมชาติ ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง
 
9. ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการผลักดัน “ปลาสวยงามในธรรมชาติ” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์
 
10. มีกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
 
มีกิจกรรมหรือกลไกในการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ (กลุ่มเกษตรกร สมาคม วิสาหกิจ สหกรณ์) และสร้างความเชื่อมโยงกับเกษตรกรในพื้นที่อื่น โดยมีโครงสร้างกลุ่มที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเกษตรกร
มีกิจกรรมหรือกระบวนการในการรวมกลุ่มในการเจรจาต่อรองทางการค้า
11. มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่
 
12. วช. จะให้ความสำคัญกับโครงการที่มีความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการเอกชนเป็นลำดับแรก
 
13. ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายดำเนินการตามตัวชี้วัดของโครงการทั้งก่อนการดำเนินงานและหลังการดำเนินงาน
 
เงื่อนไขการเสนอข้อเสนอการวิจัย
 
โครงการที่ขอรับทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
 
1. มีลักษณะการดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนดในข้อที่ 2
 
2. ระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 3 ปี โดย วช. จะพิจารณาปีต่อปี
 
3. มีการบูรณาการงานวิจัยในลักษณะสหสาขาวิชาการ หรือบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
หรือมีการดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพสูงและนำไปสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน
 
4. งบประมาณที่เสนอขอต้องมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายเป็นไปตามระเบียบ และเหมาะสม
กับการดำเนินงานวิจัย
 
5. ข้อเสนอขอรับทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเสนอขอรับทุนฯ ต้องไม่อยู่ในโครงการ/กิจกรรมที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนวิจัยอื่น
 
    กรณีมีการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมต้องแสดงขอบเขตการดำเนินงานระหว่างงานเดิมและงานใหม่ และต้องมีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานเจ้าของผลงานเดิมให้นักวิจัยนำทรัพย์สินทางปัญญาจากมาดำเนินการต่อยอด หากตรวจพบว่าข้อเสนอการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนซ้ำซ้อนหรือมีการดำเนินการวิจัยมาแล้ว วช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนทุนฯ และเรียกเงินทุนฯ คืน
 
6. กรณีที่เป็นการดำเนินงานซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างจากหน่วยงานอื่น ให้แสดงรายละเอียดการสนับสนุนดังกล่าว โดยระบุงบประมาณในแต่ละรายการในข้อเสนอการวิจัย พร้อมทั้งแสดงหนังสือรับรองจากหน่วยงานนั้น ๆ
 
7. หัวหน้าโครงการวิจัยหรือผู้อำนวยการแผน หัวหน้าโครงการย่อยและนักวิจัยร่วมทุกท่าน ต้องลงนามรับรองในข้อเสนอการวิจัยให้ครบถ้วน
 
8. วช. ขอสงวนสิทธิ์ที่จะบอกยกเลิกสัญญาฯ ในกรณีผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยไม่ส่งรายงานตามระยะเวลาที่กำหนด และมีสิทธิ์เรียกเงินทุนวิจัยคืน พร้อมดอกผล (ถ้ามี)
 
การส่งข้อเสนอการวิจัย
 
1. ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มข้อเสนอขอรับทุนฯ และรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ www.nrct.go.th และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0 2561 2445 ต่อ 591
 
2. ให้ลงทะเบียนส่งข้อเสนอการวิจัยที่เว็บไซต์ www.nriis.nrct.go.th โดยกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมยืนยันการส่งข้อเสนอการวิจัยให้สมบูรณ์ (สถานะ “ข้อเสนอการวิจัยที่ส่งแล้ว” ในระบบ NRIIS) โดยระบบ NRIIS จะเปิดรับลงทะเบียนระหว่าง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ภายในเวลา 16.30 น. เท่านั้น หากพ้นกำหนด วช. จะไม่รับพิจารณา
 
3. ให้จัดทำข้อเสนอโครงการ/กิจกรรมเป็นภาษาไทยตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยมีรายละเอียดครบทุกข้อ โดยใช้ Font Sarabun PSK ตัวหนังสือขนาด 16 และจัดส่งข้อเสนอโครงการที่ลงนามโดยหัวหน้าโครงการ พร้อมสำเนา จำนวน 7 ชุด พร้อม CD จำนวน 1 แผ่น ไปยัง วช. ตามที่อยู่ ดังนี้
 
             สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
 
             ภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านสัตว์เศรษฐกิจ
 
             อาคาร วช.4 ชั้น 3 เลขที่ 196 พหลโยธิน ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
 
4. วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่ส่งคืนข้อเสนอโครงการ/กิจกรรมของผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยจะดำเนินการทำลายข้อเสนอดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา


ดาวน์โหลด:

 



ลิงก์เพิ่มเติม : https://bit.ly/3dy8rfI




แชร์ข่าวนี้บน facebook